วิสัยทัศน์ : "องค์กรแพทย์ทหารที่มีคุณภาพ เป็นที่ไว้วางใจของกองทัพและประชาชน"

ประวัติความเป็นมา

กรมแพทย์ทหารอากาศ

ประวัติการจัดตั้ง "กรมแพทย์ทหารอากาศ"         

ประวัติกรมแพทย์ทหารอากาศ

     กองทัพอากาศ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการป้องกันราชอาณาจักรเหนือน่านฟ้าไทย และป้องกันภัยคุกคามทุกรูปแบบ กองทัพอากาศต้องเตรียมพร้อมในทุกด้าน ทั้งความพร้อมในด้านยุทธการ และความพร้อมของกำลังพลกองทัพอากาศ ให้มีสมรรถนะเหมาะสม สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีศักยภาพ

     กรมแพทย์ทหารอากาศ เป็นหนึ่งในหน่วยขึ้นตรงของกองทัพอากาศ จัดอยู่ในส่วนส่งกำลังบำรุงกองทัพอากาศ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพกำลังพลกองทัพอากาศ ให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจ เป็นกำลังรบทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มขีดความสามารถของกองทัพอากาศ

      เมื่อย้อนกลับไปในอดีต การบริการทางการแพทย์ทหารอากาศ ได้อุบัติขึ้นมาพร้อมกับกำลังทางอากาศของราชอาณาจักรไทย นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2456 จนถึงปัจจุบัน  การบริการทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าโดยลำดับ  เริ่มด้วย “หมู่พยาบาล” ซึ่งยังไม่มีแพทย์  ต่อมาเป็น “หมวดพยาบาล” อยู่ในสังกัด กองบินทหารบก  และได้เปลี่ยนเป็น “หมวดเสนารักษ์  กรมอากาศยาน”

      เมื่อกรมอากาศยาน เลื่อนฐานะเป็น “กองทัพอากาศ” หมวดเสนารักษ์ จึงได้เลื่อนฐานะเป็น “กองเสนารักษ์ กองทัพอากาศ” โดยมี พลอากาศตรี หลวงวีรเวชพิสัย  เป็นผู้บังคับกองเสนารักษ์ทหารอากาศคนแรก

      การบริการแพทย์ทหารอากาศ ได้มีการปรับปรุงขยายขีดความสามารถจนเจริญก้าวหน้า มีการบรรจุกำลังพลเพิ่มทุกสาขา ทำให้บริการแพทย์ทหารอากาศมีความเข้มแข็งขึ้น มีการทำหัตถการผ่าตัด ตรวจสุขภาพของศิษย์การบิน นักบินและผู้ทำการในอากาศ

       จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2484  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 30,000 บาท จัดซื้อที่นาทางฝั่งตะวันออกของถนนพหลโยธิน ใกล้เขตดอนเมือง เนื้อที่ 280 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา เพื่อก่อสร้างที่ทำการตรวจรักษาพยาบาลของกองทัพอากาศขึ้นใหม่  ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นที่ตั้งของกรมแพทย์ทหารอากาศ และหน่วยขึ้นตรงในปัจจุบัน คงเหลือเนื้อที่ 96 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา

        และในวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2491 กองเสนารักษ์ กองทัพอากาศ ได้เลื่อนฐานะเป็น  “กรมแพทย์ทหารอากาศ” โดยมี พลอากาศตรีเจือ ปุญโสนี นายแพทย์ใหญ่ทหารอากาศ   เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบคนแรก มี 6 หน่วยขึ้นตรง ได้แก่  กองบังคับการ  แผนกที่ 1  แผนกที่ 2  แผนกที่ 3  แผนกที่ 4  และโรงพยาบาลทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนากรมแพทย์ทหารอากาศ

         ต่อมาในปีพุทธศักราช 2495 กองทัพอากาศ ได้ปรับปรุงอัตรากำลังพลและส่วนราชการใหม่  กรมแพทย์ทหารอากาศ จึงได้ปรับเปลี่ยนส่วนราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับกองทัพอากาศ  และ “โรงพยาบาลทหารอากาศ” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช” ในคราวเดียวกันนั้นเอง 

          นอกจากนี้ กรมแพทย์ทหารอากาศ ได้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ  โดยมีหน่วยขึ้นตรง 10 หน่วย  มี 3 หน่วยที่ได้รับการปรับเปลี่ยนชื่อ ได้แก่ กองสุขาภิบาลและอนามัย เปลี่ยนชื่อเป็น กองเวชศาสตร์ป้องกัน / กองเวชกรรมการบิน  เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเวชศาสตร์การบิน / และกองคลังเวชบริภัณฑ์ เปลี่ยนชื่อเป็น กองเวชบริภัณฑ์  / ยังมีหน่วยขึ้นตรงเพิ่มขึ้นจำนวน 4 หน่วย ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ  โรงพยาบาลจันทรุเบกษา  กองบริการ  และแผนกการเงิน  

           ปีพุทธศักราช 2552 กองทัพอากาศ ได้ปรับส่วนราชการอีกครั้ง  โดยได้แยกสถาบันเวชศาสตร์การบิน ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ ในส่วนกิจการพิเศษ กรมแพทย์ทหารอากาศจึงมีหน่วยขึ้นตรง 9 หน่วย 

            ต่อมาในปี พุทธศักราช 2558 กรมแพทย์ทหารอากาศ  ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล ด้านการให้บริการสาธารณสุข การช่วยเหลือประชาชน และการบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดตั้งหน่วยขึ้นตรงใหม่  2 หน่วย ได้แก่ “ โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน)” เพื่อให้บริการแก่กำลังพลกองทัพอากาศ ครอบครัวทหารอากาศ และประชาชนทั่วไป ให้ได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและเพียงพอ   นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ทหารอากาศ” เพื่อให้การช่วยเหลือการปฏิบัติการ เกี่ยวกับการแพทย์ด้านยุทธการ  และการการบรรเทาสาธารณภัย  ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศด้านการแพทย์ ทั้งในยามปกติ และกรณีเกิดภัยพิบัติ ทำให้กรมแพทย์ทหารอากาศ มีหน่วยขึ้นตรงทั้งสิ้น 11 หน่วย

             ปัจจุบันกรมแพทย์ทหารอากาศ มีภารกิจหน้าที่  ในการวางแผนการปฏิบัติ อำนวยการ ประสานงาน  ติดตาม  กำกับการ วิจัย พัฒนา และดำเนินการเกี่ยวกับ การแพทย์ทหาร การแพทย์ทั่วไป  เวชศาสตร์ป้องกัน การปฏิบัติการป้องกันสงครามนิวเคลียร์ ชีวะ เคมี  การผลิตบุคลากรด้านการแพทย์  และการพัสดุด้านการแพทย์ กับมีหน้าที่จัดการความรู้ ควบคุม ประเมินผล และตรวจตรากิจการในสายวิทยาการด้านการแพทย์ โดยมีเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ นอกจากนี้ กรมแพทย์ทหารอากาศ ยังมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลหน่วย ในสายวิทยาการแพทย์ของกองทัพอากาศ   ได้แก่

-      สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ

-      หน่วยปกติ   ได้แก่

-      รพ.กองบิน 

-      แผนกแพทย์ 

-      หมวดพยาบาล

 หน่วยสนาม  ได้แก่

-      ฝ่ายแพทย์ แผนกสนับสนุน ฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม

-      หมวดแพทย์ ฝ่ายบริการ สถานีรายงาน

-      หมู่พยาบาล หมวดบริการ สถานีรายงาน

-      หน่วยพยาบาล สถานีถ่ายทอดโทรคมนาคม

        กรมแพทย์ทหารอากาศ  จะยังคงเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถ  ด้านการแพทย์ทหาร  การแพทย์ทั่วไป เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ โดยจะสร้างสุขสภาวะที่ดี ให้แก่กำลังพลกองทัพอากาศ ตลอดจนครอบครัวทหารอากาศ รวมถึงประชาชน ตลอดไป  

กรมแพทย์ทหารอากาศ

องค์กรแพทย์ทหารชั้นนำ    เปี่ยมล้ำจริยธรรมการรักษา

มุ่งมั่นบริการชาวประชา      พัฒนาควบคู่ทัพฟ้าไทย